ถอด 8 บทเรียน สิบปีกับอาชีพฟรีแลนซ์ที่ไปได้สวย
30 ธันวาคม 2563

 

 

         สวัสดีครับวันนี้แอดได้มีโอกาสไปเจอบทความที่น่าสนใจจากเว็บไซต์ bloggerwizard ที่เกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตของการเป็นฟรีแลนซ์ทางด้าน content marketing ของ Jessica Thiefels ที่ดำเนินมากว่า 10 ปีจนมีประสบการณ์การทำงานต่างๆมากมายหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการติดต่อพูดคุยกับลูกค้า การจัดการงานที่มากมายเกินจะรับ การคิดค่าบริการของเราเอง และอีกมากมาย เธอได้มาแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาเพื่อให้คนที่เพิ่งเริ่มเป็นฟรีแลนซ์สามารถมองเห็นภาพตัวเองในสายอาชีพฟรีแลนซ์ได้ชัดขึ้น 

 

วันนี้แอดจึงอยากมาเล่าให้เพื่อนๆ ที่บางคนอาจจะเพิ่งหันมาลองชิมลางการเป็นฟรีแลนซ์ในปีนี้ก็ต้องมาเจอแจ็คพอตกับเจ้าโควิด (COVID-19)ที่ทำให้เหตุการณ์ต่างๆแย่ลงมากขึ้นไปอีก หรืออาจจะเป็นฟรีแลนซ์หน้าเก่าแต่ต้องมารับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่องานไม่มากก็น้อย แอดอยากให้มาลองอ่านบทความนี้ เพื่อเข้าใจและเรียนรู้วิธีของ Jessica ทั้ง 8 ข้อที่เธอใช้ในเส้นทางการเป็นฟรีแลนซ์มาตลอดกว่า 10 ปีเพื่อนำมาปรับใช้ในเส้นทางฟรีแลนซ์ของตัวเองในปี 2021 ที่จะถึงนี้กันครับ

 

หากเพื่อนๆคนไหนไม่ชอบอ่านบทความยาวๆ แอดมีแบบเป็นเวอร์ชั่นของ Podcast ด้วยนะครับสามารถกดไปฟังกันได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=BVPhqRcy3Yw ได้ทั้งอรรถรสและสาระความรู้ดีๆเพิ่มเติมแน่นอน

 

 


1.เพิ่มค่าตัวทุกๆปี

ในทุกๆปีเรามีประสบการณ์มากขึ้นทำให้งานที่เราทำมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น ดังนั้นทุกๆปีเราก็อาจจะเริ่มเพิ่มค่าตัวของตัวเองดูเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และสิ่งที่คุณมอบให้กับผู้ว่าจ้างด้วย ในระยะแรกอาจจะรู้สึกว่ายากที่จะคิดค่าบริการหรือที่เรียกง่ายๆว่าค่าจ้าง โดยเฉพาะการรับงานครั้งแรก วิธีการคิดค่าบริการนั้นมีหลากหลายวิธี แต่วันนี้แอดอยากจะขอแนะนำวิธีหนึ่งซึ่ง Jessica ได้เรียนรู้และนำมาบอกนั่นคือ การผสมเรื่องของเวลาและคุณค่าของชิ้นงานเพื่อนำมาคำนวนเป็นราคาค่าบริการของเรา

 

ในส่วนของ "เวลา" นั้นไม่ใช่เรื่องยาก ให้เพื่อนๆลองคิดคำนวนระยะเวลาการทำชิ้นงานนั้นๆของเราว่าใช้เวลาเท่าไหร่จึงจะทำเสร็จ และให้บวกเวลาเพิ่มในส่วนของการติดต่อสื่อสารกันนอกสโคปงาน อาธิเช่น อาจจะต้องมีประชุม การค้นคว้าเพิ่มเติมหรือการกลับมาแก้ไขงานจาก feedback ของลูกค้าด้วย ส่วนเรื่องของ "คุณค่า" นั้น เราอาจจะต้องดูว่าชิ้นงานที่ทำมีคุณค่าต่อผู้ว่าจ้างในระยะยาวหรือเปล่า อย่างเช่น การทำงานบางอย่างไม่ได้แค่ทำให้งานเสร็จแล้วจบ แต่เราอาจจะต้องให้คำปรึกษาหรือแบ่งปันข้อเสนอแนะต่างๆเพื่อปรับปรุงธุรกิจของลูกค้าเรา ซึ่งมันจะให้ผลระยะยาวที่ดีกับลูกค้า สิ่งที่เราทำก็จะมีคุณค่ามากกว่าการทำงานให้เสร็จแล้วจบเป็นชิ้นๆไป

 


2.มั่นคงกับค่าตัวของคุณ

หลังจากที่คิดคำนวนอัตราค่าบริการของเราเรียบร้อยแล้ว สิ่งต่อไปก็คือเราจะต้อง "มั่นคง" อยู่กับเรทอัตราค่าบริการนี้เสมอเวลารับงาน เพราะถ้าหากเรารับงานที่ราคาต่ำว่าเรทปกติของเราเมื่อไหร่ นั่นแปลว่าเราจะต้องทำงานอยู่บนความเสี่ยง 3 ข้อ นั่นคือ

 

  • เราจะไม่มีเวลาให้กับงานที่จ่ายในเรทปกติ เพราะต้องแบ่งเวลาส่วนนึงไปทำงานที่รับมาในเรทราคาต่ำ
  • เราอาจจะเกิดความไม่พอใจลูกค้าและตัวงานเพราะคุณได้ค่าจ้างที่ต่ำเกินไป
  • นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการรับงานในราคาที่ถูกลงไปเรื่อยๆในอนาคต

 

 

ถ้าคุณรู้จักปฏิเสธงานที่ให้ค่าจ้างต่ำกว่าที่คุณคิดไว้ จะทำให้คุณมีเวลาเหลืออยู่และจะได้มีงานอื่นๆที่คุ้มค่ากว่าจะเข้ามาแทน

 


3.ประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

เนื่องจากการทำงานในอาชีพฟรีแลนซ์จะไม่เหมือนการทำงานประจำ เพราะเราจะมีค่าใช้จ่ายอื่นในทางธุรกิจต่างๆ ที่จะต้องรับผิดชอบเพิ่มเติม อาธิเช่น ค่า Software ,ค่าอุปกรณ์ และเรื่องเล็กๆน้อยๆอย่างการ Print เอกสาร เป็นต้น ซึ่งแนวทางการประหยัดเราอาจจะลองวิธีการต่างๆ อย่างเช่น เอกสารเราอาจจะประหยัดได้ด้วยการเปลี่ยนไปใช้เอกสารในรูปแบบออนไลน์แทนการใช้กระดาษ ,ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางหรือค่าน้ำมัน ,การชำระเงินก็ลองพูดคุยตกลงกับลูกค้าให้ใช้เป็นการชำระออนไลน์แทนการรับเช็ค และการประชุมก็ใช้การประชุมออนไลน์ Video call แทน ซึ่งตอนนี้มี Application ฟรีดีๆให้เลือกใช้หลายตัว รวมทั้งเป็นช่วงที่มีไวรัสแพร่ระบาดอย่างงี้ ทุกที่ก็จะรองรับการประชุมทางไกลอยู่แล้ว

 


4.เราไม่ได้เก่งทุกด้าน

ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร "การเรียนรู้" เป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้วตลอดเวลา และไม่ควรหยุดที่จะพัฒนาศักยภาพใหม่ๆให้ตัวเอง มีหลายๆสิ่งที่เพื่อนๆได้เรียนรู้จากการเป็นฟรีแลนซ์ใช่ไหมครับ สิ่งหนึ่งทีหลายๆคนเจอคือคำว่า เราสามารถทำเองได้ หากได้ลองศึกษาหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้วจะพบว่าบางอย่างมันทำเองก็ได้นี่นา แต่บางทีคนเราจะเก่งทุกอย่างก็คงไม่ไหว เพราะบางอย่างอาจจะต้องอาศัยประสบการณ์จากการทำงานจริงมาเยอะๆ บางอย่างก็จะมีข้อจุกจิกหลายอย่างที่อาจจะทำให้เรามีปัญหาที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดได้ในอนาคต อย่างเรื่องบัญชีและภาษี แนะนำว่าหาที่ปรึกษาสักคนเพื่อให้เขาช่วยจัดการให้ แล้วเราจะได้มีเวลามากขึ้นในการทำงานที่เป็น core หลักของเรา

 


5.ระวังลูกค้ารายใหญ่

อ่านแค่หัวข้ออาจจะงงๆว่าทำไมถึงต้องระวัง คำว่า"ระวัง" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงไม่ให้เรารับงานจากลูกค้ารายใหญ่ๆเลยนะครับ แอดจะขอยกตัวอย่างใหัฟังกัน ถ้าเพื่อนๆมีลูกค้ารายใหญ่ ที่ใหญ่ขนาดว่ารายได้ทั้งเดือนของเราเนี่ยมาจากเขาถึงหนึ่งในสาม ถ้าอยู่ดีๆเขาเปลี่ยนแนวทางโปรเจค ตัดงบประมาณ หรือไม่ได้จ้างเราต่อก็จะทำให้รายได้ส่วนใหญ่ (มากๆ) ของเราหายไปเลย การที่เดือนๆนึงหรือช่วงนึงเราอยู่กับลูกค้าแค่คนเดียว จะทำให้เรามีรายได้ที่ไม่มั่นคง เราอาจจะแก้ปัญหานี้ด้วยการรับลูกค้าที่เป็นรายเล็กเพิ่ม หรือลูกค้าประเภทอื่นๆ เพื่อให้เกิดรายได้หลายทาง ป้องกันการเกิดหลุมอากาศทางรายได้ 

 


6.พบปะผู้คน

ในข้อนี้จะพูดถึงการหางาน networking หรือ meet up เพื่อเข้าร่วมงาน (หรือจะเรียกว่าเป็นงานที่ทำให้เราไปพบปะสังสรรค์พูดคุยกับคนอื่นๆในแวดวงสาขาอาชีพเดียวกัน) ซึ่งบางท่านอาจจะรู้สึกว่าน่ากลัวหรือรู้สึกเสียเวลาไปเปล่าๆ แต่แอดอยากจะบอกว่าสำหรับฟรีแลนซ์การไปร่วมงานเหล่านี้มันสำคัญ และเป็นผลดีในระยะยาวมากๆ เพราะมันคือหนทางที่จะทำให้เรารู้จักผู้คน หรือแม้กระทั่งลูกค้ามากขึ้น และได้เรียนรู้จากคนอื่นๆ อยากให้ลองใช้วิธีนี้ดูนะครับ ในทุกๆเดือนให้เพื่อนๆลองเข้าร่วม networking สักงานที่ทำให้คุณพบกับกลุ่มลูกค้าจริงๆของคุณ หรืองานที่จะได้พบกับคนที่ทำงานในสายเดียวกัน หรือลองหากลุ่ม Chat ที่คุยกันในเรื่องที่เกี่ยวกับงานฟรีแลนซ์ของเรา ซึ่งใน application chat ตัวอย่างเช่น slack จะมีกลุ่มเปิดอยู่ซึ่งเยอะมาก และบางกลุ่มจะมีการคัดกรองผู้ที่เข้าใจจึงมั่นใจได้ว่าไม่มี spam แน่นอน

 


7.ติดต่อได้เสมอ

ในการทำงานฟรีแลนซ์นั้นการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญที่อยู่เหนือสิ่งอื่นใด แต่อย่างไรก็ตามจะต้องมีขอบเขตด้วยนะครับ อย่างเช่น คุณอาจจะตกลงกับลูกค้าไว้ว่าจะตอบอีเมลกลับภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อได้รับอีเมลคุณก็ควรจะตอบเลยไม่มีการเดี๋ยวก่อนจนเลยระยะเวลาที่ตกลง ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างความเชื่อใจกับลูกค้า เพราะเราให้ความสำคัญกับเขาก่อนสิ่งอื่นใด ถึงแม้จะตอบไวแค่ไหนแต่วันหยุดก็ต้องเป็นของเรานะครับ ยกเว้นแต่จะเป็นเรื่องด่วนจริงๆ ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยให้เราไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป จนเกิดความรู้สึก burn out หรือหมดไฟ ทำให้เรายังสามารถทำงานได้ดีอยู่เหมือนเดิม

 


8.อย่าลืมเว็บไซต์

เป็นเรื่องดีนะครับที่เราจะมีช่องทางการรับงานผ่าน social media หรือการพบเจอเพื่อพูดคุยตกลงกัน แต่อย่าลืมว่าคนก็ค้นหาเราผ่าน google เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีเว็บไซต์เอาไว้รองรับลูกค้าด้วย แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือต้องลงแรงกับการทำ SEO ด้วย เพราะจะช่วยให้ผู้ว่าจ้างเจอเราได้ง่าย และเพิ่มโอกาสให้งานเข้าหาเรามากขึ้น ซึ่งอย่าลืมว่าตอนนี้ก็มีตัวกลางอย่าง freelancebay.com ที่ให้เพื่อนๆสามารถลงโปรไฟล์ของตัวเองได้โดยผู้ว่าจ้างเองก็จะพบกับคุณได้ที่นี่เช่นกันนะครับ
 

 

กำลังเชื่อมต่อ