8 คุณสมบัติ 'ลูกค้าผู้น่ารัก' ที่ฟรีแลนซ์อยากทำงานด้วย
3 ตุลาคม 2559

 

คงจะมีหลายๆ ครั้งที่คุณจ้างฟรีแลนซ์สักคนแล้วเกิดรู้สึกติดใจอะไรบางอย่างในตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นฝีไม้ลายมือในการทำงาน ความคิดสร้างสรรค์ ความรวดเร็วในการทำงาน ฯลฯ ต่างๆ นานาเหล่านี้ จนทำให้คุณอยากจ้างเขาต่อสำหรับโปรเจคที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ถ้าจะให้จ้างเป็นพนักงานประจำก็คงจะไม่ไหว ด้วยภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน สวัสดิการต่างๆ ทั้งงานที่คุณต้องการให้เขาทำก็เป็นโปรเจคระยะสั้น และมีทีมที่ดูแลประจำอยู่แล้ว จะทำยังไงให้คุณเป็นที่หนึ่งในใจเขาในเวลาที่คุณต้องการตัว? จะเป็นลูกค้าที่ฟรีแลนซ์รัก ต้องมีคุณสมบัติอะไร? วันนี้ FreelanceBay ได้รวบรวมคุณสมบัติของ "ลูกค้าผู้น่ารัก" 8 ข้อ ที่ฟรีแลนซ์อยากทำงานด้วย มาฝากคุณผู้อ่านกัน

 

1. เริ่มต้นสร้างความคุ้นเคยอย่างเหมาะสม

การสร้างความคุ้นเคยนั้นเป็นกระบวนการ หมายความว่าต้องใช้เวลา ซึ่งไม่ใช่ภายใน 1 - 2 วันแน่ๆ โดยเริ่มต้นง่ายๆ จากโปรเจคที่คุณต้องการให้เขาทำ ด้วยการระบุรายละเอียดต่างๆ ของโปรเจค, มีการตั้งความคาดหวังที่ชัดเจน รวมถึงให้ข้อมูลที่จำเป็นต่างๆ สำหรับการทำงานอย่างครบถ้วน นอกจากนี้คุณควรสอบถามถึงวิธีจ่ายค่าบริการจากพวกเขา และทำการนัดสัมภาษณ์เพื่อพูดคุยรายละเอียดต่างๆ

 

นอกจากบรีฟรายละเอียดของโปรเจคแล้ว คุณควรอธิบายถึงบริษัทของคุณ, แบรนด์, กลุ่มเป้าหมาย วิสัยทัศน์และพันธกิจของบริษัท อีกด้วย เพื่อให้ฟรีแลนซ์เข้าใจคุณมากที่สุดและสามารถสร้างสรรค์งานออกมาได้ตรงตามที่ต้องการ เป็นการแสดงให้เห็นว่าคุณให้ความสำคัญกับโปรเจคดังกล่าวและเห็นคุณค่าในฝีมือของฟรีแลนซ์มากแค่ไหน ซึ่งเป็นการให้ใจกับฟรีแลนซ์ และทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น

 

2. สามารถติดต่อได้ง่าย

ไม่ว่าคุณจะบรีฟรายละเอียดของงานให้ฟรีแลนซ์มากแค่ไหนก็ตาม ฟรีแลนซ์ย่อมมีความกังวลและข้อสงสัยในตัวงานอยู่เสมอ ซึ่งคุณสามารถแก้ปัญหานี้ได้โดยการให้ที่อยู่อีเมล, Line ID หรือเบอร์โทรศัพท์ต่างๆ ของคุณเพื่อให้เขาสามารถติดต่อคุณได้ง่าย และหากคุณได้รับการติดต่อจากเขา คุณควรตอบกลับโดยทันที แม้ว่าคุณจะยังไม่สามารถให้คำตอบเขาได้เดี๋ยวนั้น แต่ก็อาจทำให้เขาเห็นว่าคุณกำลังหาคำตอบให้เขาอยู่ ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงความร่วมมือในการทำงาน

 

3. ไม่จู้จี้จุกจิก

การหมั่นอัพเดตการทำงานกับฟรีแลนซ์เป็นประจำนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี เพื่อเป็นการทบทวนว่าการทำงานนั้นเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือเปล่า แต่การลงไปเจ้ากี้เจ้าการหรือควบคุมการทำงานของฟรีแลนซ์ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก และยังทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก เพราะธรรมชาติของคนที่เป็นฟรีแลนซ์คือต้องการความเป็นอิสระ การที่คุณควบคุมการทำงานของพวกเขามากจนเกินไป ทำให้เขาอยู่ในสถานะที่ไม่ต่างอะไรกับการเป็นลูกจ้าง ดังนั้น คุณควรปล่อยให้เขาทำงานอิสระอย่างที่เขาต้องการ และสอบถามความคืบหน้าเป็นระยะๆ ก็เพียงพอแล้ว

 

4. ให้คำวิจารณ์ แนะนำ ติ-ชม

ทุกครั้งที่ฟรีแลนซ์ทำงานเสร็จสิ้น อย่าลืมให้คำวิจารณ์การทำงานของพวกเขาด้วย ทั้งในด้านดีและด้านลบ การที่คุณให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำงานของเขาเป็นสิ่งที่บอกว่าคุณให้ความใส่ใจกับการทำงานของฟรีแลนซ์คนนั้น แต่การให้คำวิจารณ์ในด้านลบตรงๆ อาจต้องใช้ความระมัดระวังสักเล็กน้อย โดยคุณอาจใช้ Sandwich Technique ในการวิจารณ์การทำงานของเขา คือเริ่มต้นด้วยคำชม ต่อด้วยคำติ ในจุดที่ต้องพัฒนา, ปรับปรุง หรือแก้ไข และจบท้ายด้วยคำชมอีกครั้งหนึ่ง เป็นต้น

 

5. สร้างการมีส่วนร่วมในการประเมินการทำงาน

ทุกการทำงาน นอกจากความสำเร็จแล้ว ย่อมมีความผิดพลาดหรือความบกพร่องแฝงอยู่เสมอ การให้ฟรีแลนซ์มีส่วนร่วมในการประเมินการทำงานจะทำให้เขารู้จุดบกพร่องต่างๆ ในงาน ซึ่งจะทำให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่ของเขาในโปรเจคนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี และทำให้เขาสามารถนำไปปรับปรุง พัฒนาต่อในโปรเจคถัดๆ ไปได้อีกด้วย

 

6. บอกความเคลื่อนไหวของโปรเจคอยู่เสมอๆ

ไม่ว่าสถานะโปรเจคจะเป็นอย่างไร คุณควรแจ้งให้ฟรีแลนซ์ทราบอยู่เสมอๆ เช่น บทความที่คุณเขียนขึ้นเว็บไซต์นั้นมีคนนำไปแชร์ต่อเป็นจำนวนมาก ทะลุสถิติที่เคยทำไว้, CEO ชื่นชอบแอปพลิเคชั่นที่คุณสร้างขึ้น, ลูกค้าเขียนจดหมายกลับมาขอบคุณ เป็นต้น แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม คุณควรแจ้งให้เขาทราบด้วย รวมถึงหลังจากปิดโปรเจคแล้วก็ตาม การส่งอีเมล หรือโทรศัพท์กลับไปขอบคุณพวกเขา จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับฟรีแลนซ์เป็นไปในทางบวกมากขึ้นอีกด้วย

 

7. ติดต่อเป็นระยะๆ

หากคุณมีโปรเจคที่ต้องทำอยู่เรื่อยๆ ข้อนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่พลาดไม่ได้เลยทีเดียว เพราะคุณอาจไม่ใช่ลูกค้ารายเดียวที่ฟรีแลนซ์ทำงานให้ ยังมีลูกค้าอีกหลายรายที่ใช้บริการฟรีแลนซ์คนเดียวกับคุณอยู่ จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่เขาจะไม่ว่างทำงานให้คุณ การที่คุณยังติดต่อเขาเป็นระยะๆ อย่างน้อยเดือนละครั้ง เป็นการแสดงว่าคุณสนใจในตัวเขาไม่น้อย แม้ว่า ณ ตอนนั้นคุณจะยังไม่มีงานให้เขาทำก็ตาม เพราะถ้าฟรีแลนซ์ไม่ได้รับการติดต่อจากคุณเป็นเวลานาน พวกเขาอาจคิดว่าคงไม่ได้รับการติดต่อจากคุณอีกแล้ว และรับงานจากลูกค้าคนอื่นไปทำแทน อย่าคิดว่าคุณเป็นฝ่ายเดียวที่มีสิทธิ์เลือก เพราะฟรีแลนซ์ที่เก่งๆ เขาเนื้อหอมอยากบอกใคร มีแต่คนอยากให้เขาทำงานให้เต็มไปหมด เรียกได้ว่าหัวบันไดไม่แห้งเลยทีเดียว

 

8. จ่ายเงินตรงเวลา

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่คาดหวังให้ฟรีแลนซ์ทำงานเสร็จและส่งตรงเวลาที่นัดหมายไว้ ในทางกลับกัน ฟรีแลนซ์เองก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณเองก็ควรที่จะจ่ายเงินให้พวกเขาตรงเวลาด้วย ไม่มีฟรีแลนซ์คนไหนอยากได้เงินช้า คุณเองก็เหมือนกันใช่มั้ยล่ะ ฉะนั้นอย่าได้พลาดข้อนี้ เพราะเพียงครั้งเดียวที่คุณผิดนัดชำระ ก็อย่าได้หวังเลยว่าจะได้ร่วมงานกับฟรีแลนซ์คนนั้นอีก เขาไม่อยากทำงานกับคุณหรอก

 


 

และนี่ก็เป็นคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ที่ FreelanceBay เก็บมาฝากคุณผู้อ่าน ลองทำตามกันดู การดีลงานกับฟรีแลนซ์ไม่ใช่เรื่องยาก แค่เพียงใส่ใจและมีความเป็นมืออาชีพ เพราะมืออาชีพเท่านั้นที่ทำงานร่วมกับมืออาชีพได้ ทั้งหมดทั้งมวล พึงระลึกไว้ว่าฟรีแลนซ์ก็เป็นคนเหมือนๆ กับคุณ หากคุณไม่ชอบให้ใครปฏิบัติกับคุณแบบไหน คุณก็ไม่ควรจะปฏิบัติกับใครแบบนั้นเช่นกัน จงปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนที่อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อคุณ เชื่อได้เลยว่าหากคุณทำได้ ฟรีแลนซ์เจ๋งๆ จะรักและอยากทำงานกับคุณไปนานๆ อย่างแน่นอน

กำลังเชื่อมต่อ