DO & Don't ใช้ Social อย่างไรให้ได้งาน
27 กรกฎาคม 2559

 

 

 

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Social Media ได้เข้ามามีบทบาทกับชีวิตของเรามาก ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Instagram ถ้าถามว่ามีใครบ้างที่ไม่ได้ใช้งานสิ่งเหล่านี้ ก็คงหาได้น้อยเต็มที เพราะใครๆ ต่างก็ใช้กันทั่วบ้านทั่วเมือง ด้วยความที่ Social Network เหล่านี้นั้นเปิดพื้นที่ให้แชร์ในสิ่งต่างๆ ที่เราสนใจ รวมถึงระบายเรื่องราวต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่รู้หรือไม่ว่าการใช้ Social Media ของเรานั้น สามารถส่งผลต่อการจ้างงานในปัจจุบันและอนาคตของเราได้โดยที่เราไม่รู้ตัว

 

ลองนึกถึงตอนที่เราแอบชอบ หรือสนใจใครสักคนนึง สิ่งที่เราทำก็คือลองกดเข้าไปดู (ส่อง) โปรไฟล์ของเขา, รูปภาพ, สิ่งที่เขาสนใจ ฯลฯ เพื่อให้รู้จักเขามากขึ้น กับการทำงานก็เช่นเดียวกัน หากคุณคิดว่านายจ้างในปัจจุบันหรืออนาคตจะไม่เข้ามาดูโปรไฟล์ของคุณล่ะก็ ขอให้เปลี่ยนความคิดด่วนๆ เพราะสิ่งต่างๆ ที่เราโพสต์ลงไปนั้นล้วนสะท้อนความเป็นตัวเราทั้งสิ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของเรา และมีผลต่อการเลือกจ้างงานได้ ยิ่งเรามีโปรไฟล์ดีเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ผู้จ้างสนใจตัวคุณมากขึ้นเท่านั้น หากคุณต้องการเป็นฟรีแลนซ์ที่มีงานเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ FreelanceBay ได้รวบรวมแนวทางที่ควรปฏิบัติและหลีกเลี่ยงในการใช้ Social Network มาฝากเพื่อนๆ ให้ลองทำตามกันดูค่ะ

 

สิ่งที่ควรทำ

ใช้รูปโปรไฟล์ที่เหมาะสม

รู้หรือไม่ว่าแค่รูปโปรไฟล์ดีๆ ก็สามารถสร้างความเป็นมืออาชีพให้กับเราได้แล้ว คำว่า "รูปโปรไฟล์ที่เหมาะสม" นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นภาพถ่ายทางการสำหรับสมัครงาน หรือภาพถ่ายหน้าบัตรประชาชน แต่ก็ไม่ถึงขนาดกับภาพถ่ายวาบหวิว โชว์เนื้อหนังมังสา ถ่ายในห้องน้ำ แบบนั้นก็เกินไป โดยทั่วไปแล้วไม่มีกฏตายตัวในการเลือกรูปโปรไฟล์ที่เหมาะสม แค่เป็นรูปถ่ายธรรมดาๆ ดูสุภาพเรียบร้อย สบายๆ และเป็นรูปคุณจริงๆ เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

 

เขียนคำแนะนำตัวเองที่ดี

อาจกล่าวได้ว่าคำแนะนำตัวเองนั้นเป็นประตูบานแรกที่ทำให้ผู้จ้างรู้จักคุณ ยิ่งคุณเขียนได้ดีเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ผู้จ้างสนใจคุณมากขึ้นเท่านั้น คำแนะนำตัวเองที่ดีไม่จำเป็นต้องฮาร์ดเซลเช่น คุณมีทักษะอะไรบ้าง แต่อาจเขียนในเชิงว่า คุณมีแรงบันดาลใจหรือความทะเยอทะยานในการทำงานอย่างไร เช่น หลงใหลในงานออกแบบกราฟฟิก, หลงรักงานเขียนเป็นชีวิตจิตใจ เป็นต้น

 

สร้างผลงานของคุณ

สำหรับการเป็นฟรีแลนซ์แล้ว สิ่งที่อธิบายตัวคุณได้ดีที่สุดนอกจากคำแนะนำตัวเองอย่างมีศิลปะ ก็คือผลงานของคุณนั่นแหละ ถึงแม้ว่า Social Media จะไม่ใช่พอร์ตโฟลิโอจริงๆ ก็ตาม แต่ก็เป็นพื้นที่แสดงผลงานได้ดีเชียวล่ะ อย่างถ้าคุณเป็นช่างภาพ ใน Instagram ของคุณ (หรือบล็อกส่วนตัว) ก็ควรเต็มไปด้วยภาพถ่ายสวยๆ น่าตื่นตาตื่นใจ ถ้าคุณเป็นนักเขียน ก็ควรที่จะมีบล็อกส่วนตัวไว้แชร์เรื่องราวที่คุณเขียน และแชร์มันออกมาให้โลกได้รู้จักคุณ เป็นต้น

 

หมั่นสร้างความน่าเชื่อถือ

ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการเป็นนักออกแบบหรือวิศวกรแล้ว อะไรคืองานที่คุณทำแล้วรู้สึกสนุก แน่นอนว่าคงไม่ใช่การดื่มแอลกอฮอล์ เข้าสังคม หรือนอนดูหนังดูซีรีย์ตลอดทั้งวัน (อาจจะใช่ แต่ดูไม่น่าเชื่อถือเอาซะเลย) จำไว้เสมอว่าไลฟ์สไตล์ของคุณสามารถทำให้ผู้จ้างสนใจคุณได้ เช่น ถ้าคุณเป็นนักวิ่งมาราธอน คุณควรแสดงถึง ความมีวินัย, ความยืนหยัดไม่ย่อท้อ และความมุ่งมั่น หรือ ถ้าคุณชอบการสร้างเครื่องบินจำลอง ก็ควรแสดงออกว่าคุณเป็นคนที่ใส่ใจในรายละเอียด เป็นต้น

 

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

ความหยาบคาย

คำหยาบคาย,การเหยียดเชื้อชาติ,การเหยียดเพศ,การเลือกปฏิบัติ รวมถึงภาษาที่ทำให้เสื่อมเสียและก้าวร้าวในรูปแบบอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ใครๆ ต่างก็ไม่ชอบ แม้จะเป็นเพียงเรื่องที่ทำให้ตลกในหมู่เพื่อน แต่ก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ การทำตัวเป็นคนที่สุภาพ น่ารัก ทำให้ใครๆ ก็อยากเข้าหา และมีพลังในการดึงดูดใจได้มากกว่า

 

ไม่แสดงด้านลบออกมา

ถ้าคุณขี้บ่นเกี่ยวกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ควรตั้งค่าปิดไว้ส่วนตัวดีที่สุด ลองนึกภาพนายจ้างของคุณเลื่อนผ่านหน้าฟีด Twitter และเห็นข้อความของคุณ เขาคงรำคาญกับสิ่งที่คุณบ่น และมันยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงความยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมถึงความไม่อดทนของคุณ คุณควรแสดงให้นายจ้างได้รับแรงบันดาลใจจากบุคลิกภาพ ผ่านสิ่งต่างๆ ที่คุณโพสต์ลงไป ซึ่งจะทำให้นายจ้างมั่นใจว่าคุณสมควรได้รับงานจากเขา

 

มีจุดยืนที่ชัดเจน ในเรื่องที่ละเอียดอ่อน

Social Media ถือเป็นสื่อที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการเสพ ต้องฟังหูไว้หู เนื่องจาก Social Media นั้นถือเป็นพื้นที่สำหรับการออกความคิดเห็นในเรื่องใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง, ศาสนา และหัวข้ออื่นๆ ที่เป็นเรื่องราวดราม่าได้ง่าย การมีจุดยืนแสดงความเชื่อมั่นและหลักการ จำเป็นต้องกระทำ ด้วยความระมัดระวัง การที่คุณหัวรุนแรงหรือมีมุมมองที่รุนแรง อาจจะมีผลสำหรับการจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณพูดคุยในลักษณะคุกคาม ควรระมัดระวังกับสิ่งที่คุณพูด เพราะในโลก Social นั้นทุกอย่างล้วนไปไว และกว่าที่คุณจะรู้ตัวก็อาจจะสายไปเสียแล้ว

 

ไม่แสดงความเท็จ

ถ้าคุณไม่ได้ความเก่ง และมีพรสวรรค์อย่างแท้จริง ก็ไม่ควรกล่าวเท็จ เกี่ยวกับทักษะของคุณ ไม่ควรโอ้อวดตัวเองและบอกว่าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งๆ ที่คุณเพิ่งจะเริ่มต้น หากคุณไม่ได้มีความสามารถจริงอย่างที่กล่าวอ้าง ก็เตรียมปิดประตูลาจากวงการฟรีแลนซ์ได้เลย เพราะผู้จ้างคงไม่แนะนำให้ใครใช้บริการจากคุณอย่างแน่นอน

 

และนี่ก็เป็นแนวทางล็กๆ น้อยๆ ที่เราเก็บมาฝากเพื่อนๆ อันไหนที่เพื่อนๆ ทำดีแล้วก็ทำต่อไป ส่วนอันไหนที่แย่ ก็ลองๆ ปรับแก้กันไป และอย่าลืม คุณสามารถสร้างโปรไฟล์ของคุณได้ฟรีบน FreelanceBay หลังจากที่สร้างโปรไฟล์เสร็จแล้ว อย่าลืมแชร์ไปที่ Facebook, Twitter ของคุณ ให้โลกได้รู้ด้วยล่ะ!


 

อ่านบทความอื่นๆ ของ FreelanceBay

สมัครสมาชิก FreelanceBay

ติดตาม FreelanceBay จากช่องทางต่างๆ : Facebook | Twitter | Google+

กำลังเชื่อมต่อ