5 ทักษะทางธุรกิจที่ฟรีแลนซ์ควรมีติดตัว
21 ตุลาคม 2559

 

การเป็นฟรีแลนซ์ที่ดีนั้น สิ่งที่เราควรมีเบื้องต้นคือความสามารถเฉพาะทางที่เราถนัด ไม่ว่าจะเป็นทักษะในเรื่องของการเขียนคอนเทนต์ ออกแบบกราฟฟิก แปลภาษา เขียนโปรแกรม สร้างแอปพลิเคชั่น ฯลฯ ตามความถนัดของแต่ละคน ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องทำให้ได้ (แหงสิ ก็ถ้าทำไม่ได้แล้วจะเอาอะไรไปแลกเงินล่ะ) แต่การเป็นฟรีแลนซ์นั้นก็เหมือนกับการทำธุรกิจ ซึ่งการมีทักษะในการทำงานอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เรายังต้องมีทักษะในการทำธุรกิจอีกด้วย เพื่อที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง

 

จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ฟรีแลนซ์ทุกคนควรจะฝึกไว้ และควรจะทำให้เชี่ยวชาญ ซึ่งเราขอแนะนำ 5 ทักษะที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
 

1. การสื่อสารและการโปรโมทตัวเอง

"ปากเป็นเอกเหมือนเสกมนตร์ให้คนเชื่อ" คำกล่าวนี้ยังคงเป็นจริงเสมอ ถือเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะการเป็นฟรีแลนซ์นั้นเราต้องทำอะไรหลายๆ อย่างด้วยตัวคนเดียว โดยเฉพาะการติดต่อประสานงานอย่างมืออาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่ลูกค้าต้องการให้ได้มากที่สุด และเป็นจุดที่ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นในตัวเรา ซึ่งจะทำให้เราสามารถทำงานร่วมกับลูกค้าได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ การวางตัวที่เหมาะสม เป็นคนนิสัยดี มีน้ำใจ รู้มารยาท รู้จักกาลเทศะ ทำตัวน่ารัก สามารถติดต่อได้ง่ายและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันท่วงที ก็จะยิ่งทำให้ลูกค้ารักและชอบเรา ส่งผลให้เกิดการบอกต่อกับคนอื่นไปอย่างอัตโนมัติ โดยที่เราแทบจะไม่ต้องออกแรงโปรโมทตัวเองเลย

 

2. การเจรจาต่อรอง

ก่อนที่จะเริ่มต้นลงมือทำโปรเจคใดๆ ก็ตาม สิ่งที่คุณต้องทำก็คือการทำความเข้าใจและตกลงเงื่อนไขกับผู้ว่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของราคาค่าจ้างต่างๆ ขอบเขตการทำงาน ระยะเวลาในการทำงานและวันส่งงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณควรจะทำทุกครั้ง รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่ตกลงกันนั้นก็ควรที่จะเหมาะสมกับสเกลของโปรเจคที่ทำด้วย

 

นอกจากนี้แล้ว อาจจะมีบางครั้งที่ผู้ว่าจ้างขอต่อราคาที่เราได้เสนอไป หรือขอให้ส่งงานเร็วขึ้น ซึ่งถ้าคุณเต็มใจที่จะทำให้ หรือสามารถทำให้ได้ การตอบตกลงก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าไม่ คุณควรอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจด้วยเหตุผลว่าทำไมถึงทำให้ลูกค้าไม่ได้ โดยอาจเลือกที่จะมาเจอกันครึ่งทางด้วยการเสนอตัวเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่าก็ได้ การเจรจาต่อรองนั้นถือเป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของตัวคุณเอง ซึ่งจะทำให้ชีวิตการทำงานฟรีแลนซ์ของคุณเป็นไปได้อย่างราบรื่น

 

3. การบริหารการเงินและเวลา

การวางแผนล่วงหน้า คือกุญแจสำคัญในการบริหารจัดการเวลาและการเงินของคุณ โดยเริ่มต้นจากการสำรวจรายได้จากการเป็นฟรีแลนซ์ของคุณก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายของการเป็นฟรีแลนซ์มากๆ เนื่องจากฟรีแลนซ์นั้นมีรายได้ที่ไม่แน่นอน บางเดือนอาจโกยเงินได้เป็นกอบเป็นกำ ในขณะที่บางเดือนอาจไส้แห้ง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องหาทางรับมือกับมันเพื่อให้อยู่รอดได้ในเดือนที่ไม่มีงานเข้ามา

 

นอกจากนี้ การบริหารเวลาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คุณละเลยไม่ได้ เพราะเวลาตลอดทั้งวัน 24 ชั่วโมง เป็นของคุณทั้งหมด ซึ่งความ "อิสระ" ของการเป็นฟรีแลนซ์นั้นสามารถสร้างหรือทำลายอาชีพของคุณได้ การมีวินัยในการทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยในปัจจุบันนี้มีตัวช่วยในการบริหารเวลามากมาย ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของคุณได้เป็นอย่างดี

 

4. การจัดระเบียบชีวิต

อาชีพฟรีแลนซ์นั้นบางทีก็มักจะมีอะไรที่คาดเดาไม่ได้เข้ามาในชีวิตอยู่เสมอ ฉะนั้นจงพยายามอย่าสร้างหนี้สินให้กับตัวเองมากเกินไปนัก ซึ่งจะทำให้คุณสามารถจัดระเบียบชีวิตต่างๆ ได้อย่างใจเย็น ซึ่งเป็นหนึ่งในนิสัยของการจัดลำดับความสำคัญ ทำให้ภาระงานไม่เยอะเกินไป และทำให้สามารถรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี ด้วยทักษะการจัดระเบียบชีวิตตัวเองนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และสามารถหลีกเลี่ยงความเครียดได้เป็นอย่างดี

 

5. การแก้ไขปัญหา

สิ่งหนึ่งที่นักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลบนโลก (อย่าง Bill Gates, Elon Musk หรือ Warren Buffett) มีความพิเศษคล้ายๆ กันก็คือวิธีการในการแก้ไขปัญหาเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น พวกเขามักจะไม่ยอมแพ้ และพยายามแก้ปัญหาก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่โต อย่ายอมแพ้แม้ว่าอะไรๆ จะไม่เป็นไปตามที่วางแผนเอาไว้ ให้เอาเวลาไปคิดแผน B, C, D, … ดีกว่า และใช้ไหวพริบในการแก้ไขปัญหาไปด้วย เพราะความไม่ย่อท้อ คือหนทางเดียวที่จะสามารถเอาชนะอุปสรรคได้นั่นเอง

 

การที่เรามีความเชี่ยวชาญและโดดเด่นในการทำงานนั้นเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่มันอาจจะไม่พอสำหรับการประสบความสำเร็จในระยะยาว ดังนั้นหมั่นฝึกฝนกันไว้ดีกว่า เพราะถึงเวลาที่จำเป็นต้องใช้ทักษะเหล่านี้ เราจะเป็นคนหนึ่งที่สามารถนำมันออกมาใช้แก้ปัญหาได้ และสามารถที่จะประสบความสำเร็จได้มากกว่าคนอื่นที่ไม่มีทักษะเหล่านี้ติดตัวได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลย

อ่านบทความอื่นๆ ของ FreelanceBay

สมัครสมาชิก FreelanceBay

ติดตาม FreelanceBay จากช่องทางต่างๆ : Facebook | Twitter | Google+

กำลังเชื่อมต่อ