การเข้ามาของ Uber นั้นทำให้คนขับ Taxi เดือดร้อนจริงๆ หรือเปล่า?
30 มกราคม 2560

 

การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงโมเดลธุรกิจแบบ Sharing Economy ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นการเข้ามาของ Uber แอปพลิเคชั่นเรียกรถยนต์โดยสารที่หลายคนคาดการณ์ว่าอาจทำให้แท็กซี่แบบเดิมๆ นั้นหายไปจากตลาดได้ แต่จริงๆ แล้วเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่?

 

คำตอบคือ ไม่จริง

"การเพิ่มขึ้นของธุรกิจแบบ Sharing Economy นั้น จะทำให้งานรูปแบบเดิมๆ หายไปจากโลกหรือเปล่า" นี่เป็นคำถามตั้งต้นของงานวิจัยที่เราจะมาดูกันในวันนี้ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ได้พบว่าจริงๆ แล้วนั้น สิ่งที่หลายๆ คนมีความกังวลว่าการเข้ามาของ Uber นั้นจะทำให้ระบบการเรียกรถแท็กซี่แบบเดิมๆ หายไปนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

 

โดยกลุ่มนักวิจัยจาก Oxford Martin School ได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากหลายๆ เมืองในสหรัฐอเมริกา เพื่อสำรวจว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างหลังจากที่แอปพลิเคชั่นได้เปิดตัวขึ้น ซึ่งผลที่ได้นั้นตรงข้ามกับสิ่งที่คิดไว้โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ แทนที่การเข้ามาของ Uber นั้นจะทำให้คนขับแท็กซี่รายเก่าๆ หายไปจากตลาดนั้น กลับกลายเป็นว่าเกิดจากจ้างงานเพิ่มมากขึ้นประมาณ 50% ด้วยซ้ำไป นอกจากนี้แล้วผลกระทบในด้านของรายได้นั้นก็มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยพบว่าแม้ว่ารายได้ของคนขับแท็กซี่จะลดลงไปประมาณ 10% หลังจากที่ Uber เข้ามาในตลาดก็จริง แต่เมื่อคิดเป็นอัตรารายชั่วโมง เทียบกับคนที่ขับรถให้ Uber แล้วนั้น กลับพบว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10% เช่นเดียวกัน

 

ดร.คาร์ล เฟรย์ (Carl Frey) หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัย ระบุว่าคนทั่วไปนั้นมักจะสนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะสั้น หลังจากที่เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเป็นส่วนใหญ่ แต่ความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้มีผลกระทบมากอย่างที่คาด เพราะการเข้ามาของ Uber นั้นทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นถึง 50% เมื่อเปรียบเทียบกับการที่คนขับรถแท็กซี่รายเก่าๆ มีรายได้ลดลง 10% นั้นอาจกลายเป็นเรื่องที่ไม่หนักหนาสาหัสเท่าไหร่นัก

 

ทั้งนี้ การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้นอาจเกิดผลกระทบอย่างมหาศาล หาก Uber สามารถวิจัยและพัฒนาระบบรถยนต์ไร้คนขับ (Self-Driving cars) ได้เป็นผลสำเร็จ โดยดร.เฟรย์เองก็เป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่ทำการศึกษาถึงผลกระทบของระบบการทำงานแบบอัตโนมัติที่มีผลต่อการจ้างงาน และพบว่ามากกว่า 40% ของงานในตลาดนั้นจะถูกคุกคามจากการเข้ามาของหุ่นยนต์ ภายในระยะเวลา 10 - 20 ปีข้างหน้า แม้ในภายหลังงานวิจัยของกลุ่มประเทศ OECD จะระบุว่าสิ่งที่ดร.เฟรย์กังวลนั้นอาจเป็นเรื่องที่เกินเป็นจริงมากไปสักเล็กน้อย

 

อย่างไรก็ตาม ดร.เฟรย์ยังคงย้ำว่า เรายังจำเป็นต้องกังวลมากขึ้น เกี่ยวกับผลกระทบของระบบอัตโนมัติสำหรับงานที่ใช้ทักษะต่ำกว่า เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า Gig Economy โดยเขาได้ระบุว่า แม้จะมีผู้ที่ทำงานแบบ Sharing Economy นั้นมีเพียง 0.5% ในสหรัฐอเมริกาก็จริง แต่หากวันใดที่ระบบอัตโนมัติสามารถเกิดขึ้นได้จริงล่ะก็ นี่จะเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้หลายๆ บริษัทลดต้นทุนลง ด้วยการใช้งานหุ่นยนต์ แทนที่การจ้างแรงงานมนุษย์ก็เป็นได้

 

แม้ว่างานวิจัยนี้จะเกิดขึ้นโดยการสำรวจกลุ่มตัวอย่างภายในประเทศสหรัฐอเมริกาก็จริง แต่สำหรับในประเทศไทยแล้วนั้นก็อาจไม่ได้มีความแตกต่างกันมากเท่าใดนัก ดังที่เรายังคงเห็นรถแท็กซี่วิ่งกันอยู่เต็มถนนในกรุงเทพมหานคร อาจเป็นเพราะความสะดวกที่มากกว่า รวมถึงในเรื่องของเทคโนโลยีที่หลายๆ คนอาจไม่คุ้นชิน ในเรื่องของความปลอดภัยในการใช้งาน ที่หลายคนยังมีความกังวลอยู่เช่นกัน

กำลังเชื่อมต่อ