ฟรีแลนซ์ อยากรอด ต้องรู้ ทำไงให้มีเงินใช้หลังเกษียณ?
22 ธันวาคม 2558
 
ปัจจุบันอาชีพฟรีแลนซ์ เป็นหนึ่งในอาชีพที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้วยอิสระในการทำงานที่แตกต่างจากงานประจำ สามารถจัดการตารางชีวิตของตัวเองได้ และไม่มีเจ้านายมาคอยสั่งงาน ทำให้มีคนจำนวนมากก้าวเข้ามาเป็นฟรีแลนซ์เพิ่มมากขึ้น ทว่าในข้อดีของการมีอิสระของฟรีแลนซ์นั้นกลับมีข้อจำกัดในเรื่องของหลักประกันในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ซึ่งแตกต่างจากงานประจำซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) สำหรับพนักงานบริษัท และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สำหรับข้าราชการ ที่จะจ่ายเงินบำนาญดูแลให้หลังจากอายุ 60 ปี
 
สำหรับฟรีแลนซ์แล้ว การสร้างหลักประกันในชีวิตเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เนื่องจากเราไม่สามารถทำงานหนักได้ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีเงินใช้หลังจากเกษียณอายุด้วย มีหลายวิธีที่สามารถสร้างหลักประกันให้กับชีวิตหลังเกษียณได้ แต่ถ้ายังนึกไม่ออก วันนี้ FreelanceBay ขอแนะนำ 'กองทุนการออมแห่งชาติ' เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสร้างความมั่นคงทางการเงินหลังเกษียณ ให้เพื่อนๆ ได้รู้จักกัน
 

กองทุนการออมแห่งชาติ คืออะไร?

 

กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เป็นกองทุนการออมเพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรืออยู่นอกระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ ได้ออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณ โดยรัฐจะช่วยจ่ายสมทบให้ส่วนหนึ่ง และเมื่อผู้ออมเงินมีอายุครบ 60 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญเป็นรายเดือนตลอดชีวิต ซึ่งถือเป็นการสร้างหลักประกันให้กับชีวิตในยามที่ไม่มีรายได้ประจำ งานนี้มนุษย์ฟรีแลนซ์มีเฮ เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมอย่างมนุษย์เงินเดือนคนอื่น แต่ก็สามารถมีเงินบำนาญใช้ในวัยเกษียณได้เช่นเดียวกัน

 

ใครบ้างที่มีสิทธิสมัคร?

  1. ผู้มีสัญชาติไทย
  2. อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
  3. ไม่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ซึ่งส่งเงินเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือสมาชิกกองทุนหรืออยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญอื่นที่มีการจ่ายสมทบโดยรัฐหรือนายจ้าง เช่น เกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ค้าขาย รับจ้างทั่วไป แม่บ้าน นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น

 

การส่งเงินสะสมและการจ่ายเงินสมทบจากรัฐบาล

 

สมาชิกสามารถส่งเงินสะสมงวดแรกพร้อมกับการสมัครสมาชิกได้ตั้งแต่เดือนละ 50 บาทถึง 13,200 บาทในปีนั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องส่งเงินเท่ากันทุกเดือน แต่ถ้าไม่ได้ส่งเงินสะสม ก็จะไม่ได้เงินสมทบจากรัฐในเดือนนั้น และเมื่อสมาชิกส่งเงินสะสม รัฐจะจ่ายเงินสมทบให้ภายในสิ้นเดือนถัดไปตามอัตราดังนี้

 

อายุของสมาชิกขณะส่งเงินสมทบ

เงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายให้

เพดานเงินสมทบจากรัฐบาล

ตั้งแต่ 15 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี

50% ของเงินสะสม

ไม่เกิน 600 บาท/ปี

มากกว่า 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี

80% ของเงินสะสม

ไม่เกิน 960 บาท/ปี

มากกว่า 50 ปี

100% ของเงินสะสม

ไม่เกิน 1,200 บาท/ปี

 

 

การรับประกันผลตอบแทน

 

รัฐบาลจะรับประกันผลตอบแทนของสมาชิก โดยในวันที่สมาชิกสิ้นสภาพ (อายุครบ 60 ปี หรือเสียชีวิต) ให้ผลตอบแทนของเงินสะสมและเงินสมทบได้ ไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยฝากประจำประเภท 12 เดือน โดยเฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ 5 แห่ง

 

ส่งเงินสะสมไปแล้ว อยากใช้เงิน ทำยังไงได้บ้าง?

 

สมาชิกกอช. มีสิทธิรับเงินได้ 4 กรณี ได้แก่

  1. อายุครบ 60 ปี รับบำนาญรายเดือนตลอดชีวิตที่เหลืออยู่

  2. ทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปี ได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจะได้รับเมื่อมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์

  3. ลาออกจากกองทุน ได้รับเงินก้อนสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม (สามารถสมัครใหม่ได้)

  4. เสียชีวิต ได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินในบัญชีของแต่ละบุคคล โดยมีผู้รับผลประโยชน์คือทายาท

* จะเห็นว่ากองทุนนี้ไม่สามารถนำเงินออกมาใช้ก่อนอายุครบ 60 ปีได้ (ยกเว้นจะลาออกจากกองทุน) ซึ่งเป็นผลจากนโยบายของรัฐที่ต้องการให้ผู้ส่งเงินมีหลักประกันความเป็นอยู่หลังเกษียณอายุการทำงาน ดังนั้นเพื่อความมั่นคงในบั้นปลาย ก็ส่งเงินสะสมจนถึงอายุ 60 จะคุ้มกว่า ได้ Passive Income เน้นๆ

 

ออมยังไงให้ได้เงินบำนาญ?

 

ตามกฎหมายได้ระบุไว้ว่าถ้าผลของการคำนวณบำนาญได้ต่ำกว่าเดือนละ 600 บาท เราจะได้เป็นเงินดำรงชีพ ซึ่งรัฐจะจ่ายคืนให้จนกว่าเงินในบัญชีของเราจะหมดไป แต่หากคำนวณแล้วได้มากกว่าหรือเท่ากับ 600 บาท รัฐจะจ่ายเงินบำนาญให้จนกว่าเราจะเสียชีวิต

 

สถานการณ์ตัวอย่าง 1

 

สมมติเราอายุ 50 ปี ออมเงินเดือนละ 800 บาท เป็นเวลาทั้งหมด 10 ปี (รัฐสมทบให้ 100% ไม่เกินปีละ 1,200 บาท) เมื่ออายุ 60 เราจะมีเงินสะสมทั้งหมด

 

(9,600 + 1,200) x 10 = 108,000 บาท

 

รัฐกำหนดให้เรามีอายุขัยโดยประมาณที่ 80 ปี เท่ากับเราจะมีชีวิตต่ออีก 20 ปี = 240 เดือน

เมื่อหารเฉลี่ยต่อเดือนจะได้เท่ากับ 108,000/240 = เดือนละ 450 บาท

การออมแบบกรณีข้างต้น จึงไม่สามารถได้เงินบำนาญ เนื่องจากเมื่อหารเฉลี่ยต่อเดือนแล้วได้ต่ำกว่า 600 บาท ซึ่งกรณีนี้ รัฐจะจ่ายคืนให้เดือนละ 600 บาท เป็นระยะเวลา 180 เดือน (หรือเท่ากับ 15 ปี) เท่านั้น เงินนี้จะเรียกว่า “เงินดำรงชีพ”

 

สถานการณ์ตัวอย่าง 2

 

สมมติเราอายุ 50 ปี ออมเงินเดือนละ 1,100 บาท เป็นเวลาทั้งหมด 10 ปี (รัฐสมทบให้ 100% ไม่เกินปีละ 1,200 บาท) เมื่ออายุ 60 เราจะมีเงินสะสมทั้งหมด

 

(13,200 + 1,200) x 10 = 144,000 บาท

 

รัฐกำหนดให้เรามีอายุขัยโดยประมาณที่ 80 ปี เท่ากับเราจะมีชีวิตต่ออีก 20 ปี = 240 เดือน

เมื่อหารเฉลี่ยต่อเดือนจะได้เท่ากับ 144,000/240 = เดือนละ 600 บาท

การออมแบบกรณีนี้จะทำให้เราได้เงินบำนาญ เนื่องจากเมื่อหารเฉลี่ยต่อเดือนแล้วได้เท่ากับ 600 บาท ซึ่งกรณีนี้รัฐจะจ่ายคืนให้เดือนละ 600 บาท เป็นระยะเวลา 240 เดือน (20 ปี) และถึงแม้ว่าเราจะมีอายุเกิน 80 ปี รัฐก็จะยังคงจ่ายเงินบำนาญจำนวนนี้ให้อยู่

 

สถานการณ์ตัวอย่าง 3

 

สมมติเราอายุ 25 ปี ออมเงินเดือนละ 1,100 บาท เป็นเวลาทั้งหมด 35 ปี (รัฐสมทบให้ 50%, 80% และ 100% ตามช่วงอายุที่กำหนด) เมื่ออายุ 60 เราจะมีเงินสะสมทั้งหมด

 

[(13,200 + 600) x 5] + [(13,200 + 960) x 20] + [(13,200 + 1,200) x 10] = 496,200 บาท

 

เมื่อหารเฉลี่ยต่อเดือนจะได้เท่ากับ 496,200/240 = เดือนละ 2,067.50 บาท

กรณีนี้รัฐจะจ่ายเงินบำนาญให้เราเดือนละ 2,067.50 บาทเป็นระยะเวลา 240 เดือน (20 ปี) และถึงแม้ว่าเราจะมีอายุเกิน 80 ปี รัฐก็จะยังคงจ่ายเงินบำนาญจำนวนนี้ให้อยู่ จนกว่าจะเสียชีวิต

 

ฉะนั้น แนะนำให้ออมแบบเต็มพิกัดจึงจะดีที่สุด (เป้าหมายขั้นต่ำที่จะทำให้เรามีสิทธิได้รับเงินบำนาญก็คือ 144,000 บาท) นอกจากนี้ ยิ่งเราเริ่มต้นออมเร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้เงินบำนาญสูงมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้จำนวนเงินดังกล่าวยังไม่รวมดอกเบี้ยที่ได้จากการนำเงินไปลงทุนของรัฐ ซึ่งรัฐรับประกันว่าจะได้ผลตอบแทนไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยฝากประจำอีกด้วย

 

ดีขนาดนี้ แล้วสมัครยังไง?

 

สามารถสมัครและส่งเงินสะสมได้ที่ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ โดยใช้หลักฐานในการสมัครแค่บัตรประชาชนเพียงใบเดียวเท่านั้น

 

คำถามสุดท้าย คุ้มมั้ย?

 

แน่นอนว่าการเลือกออมเงินกับกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการ "ซื้อหลักประกัน" สำหรับฟรีแลนซ์หรือผู้ทำงานนอกระบบอื่นๆ ที่ไม่มีการออมเงินภาคบังคับแบบมนุษย์เงินเดือนทั่วไป อาจมีทางเลือกในการออมอื่นๆ เช่น ประกันชีวิต ประกันแบบบำนาญ การเปิดบัญชีธนาคารแบบฝากประจำ การลงทุนในหุ้น และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งอาจให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่การค่อยๆ เริ่มต้นออมทีละนิดละน้อย ก็ยังดีกว่าไม่ได้ออมอะไรเลย และการออมเงินกับกองทุนการออมแห่งชาตินี้ก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องออมเงินเท่ากันทุกๆ เดือน ดังนั้นการออมกับกองทุนการออมแห่งชาติ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้เรามีเงินออมที่มากขึ้นในอนาคตนั่นเอง

กำลังเชื่อมต่อ