ชวนเยือนถิ่นวัดมอญ สะท้อนประวัติศาสตร์..ชนชาติรามัญ

รายละเอียดงาน

“วัด” นอกจากจะเป็นสถานที่บำเพ็ญศาสนกิจแล้ว วัดบางแห่งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางด้านศิลปะสถาปัตยกรรมอีกด้วย ซึ่งในจังหวัดสมุทรปราการมีวัดมากมายนับร้อยแห่ง ทั้งวัดพระอารามหลวง วัดที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ วัดที่มีความสำคัญต่อวัฒนธรรมประเพณี และวัดที่มีบทบาทต่อชุมชนคนท้องถิ่น วัดเหล่านี้เราล้วนท่องเที่ยวแวะหาความสงบใจพร้อมเสพงานศิลป์ และอิ่มเอมไปกับการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
อบจ. นิวส์ “ฟ้าใหม่” ฉบับนี้จึงอยากชวนผู้อ่านไปร่วมท่องเที่ยวเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่มาของวัดมอญเก่าๆ ย่านพระประแดง แม้จะไม่ใช่วัดโด่งดังด้านการท่องเที่ยว แต่เป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์และบทบาทต่อชุมชนคนมอญมาอย่างยาวนาน คุ้มค่าแก่การเรียนรู้..

วัดโมกข์ : สร้างสมัยรัชกาลที่ 3
เดิมเป็นบ้านพระยาสมิงสามแหลก

แรกมาถึงเราลัดเลาะเข้าไปที่ถนนพระยาพายัพพิริยะกิจ ตำบลตลาด ภายในซอยสุขสมบูรณ์ จะเจอกับวัดโมกข์ หรือที่คนมอญเรียกว่า เภ่โมกตอน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2390 หรือราวสมัยรัชกาลที่ 3 ตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา พื้นที่บริเวณวัดโมกข์เดิมเป็นบ้านของพระยาสมิงสามแหลก ซึ่งเป็นปลัดเมืองนครเขื่อนขันธ์ในสมัยนั้น ท่านมีศรัทธายกบ้านและที่ดินทั้งหมดให้สร้างเป็นวัด
โดยชื่อ "'เภ่โมกตอน" นั้นแปลว่า “วัดโผล่ขึ้น" ความรุ่งเรืองของวัดในสมัยอดีต กล่าวกันว่าวัดโมกข์เป็นวัดที่มีชื่อเสียงมากในฝ่ายรามัญ มีโรงพิมพ์ภาษารามัญ มีพระภิกษุ-สามเณร วัดนี้ยังมีองค์หลวงพ่อพระพุทธสิหิงค์จำลอง ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์ประจำวัดให้พุทธศาสนิกชนได้มากราบไหว้ขอพร โดยทางวัดจะจัดงานประเพณีสักการะปิดทองพระพุทธสิหิงค์ และทอดผ้าป่าสามัคคีขึ้นเป็นประจำทุกปี
แม้จะบอกว่าเป็นวัดมอญ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปสังคมรอบวัดก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง เราจึงสังเกตเห็นว่าอาคารเสนาสนะภายในวัดมีการผสมผสานไปด้วยสถาปัตยกรรมทั้งแบบไทย จีน และมอญ แต่ที่ยังเป็นเอกลักษณ์มอญให้เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือเสาหงส์ ธงตะขาบที่เราเห็นมีเกือบทุกวัดในย่านนี้

วัดแค : ชื่อมอญ“วัดเกริงเจิน”
อดีตเคยเป็นแหล่งนำช้างมาอาบน้ำ

ย้อนกลับออกมาในซอยสุขสมบูรณ์อีกเพียงไม่กี่ร้อยเมตร เราก็พบกับวัดแค ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัดเก่าที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2364 โดยชาวมอญที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ วัดนี้มีชื่อภาษามอญว่า วัดเกริงเจิน ซึ่งแปลว่าคลองช้าง เนื่องจากในอดีตพื้นที่วัดติดกับคลองที่ล่องช้างมาอาบน้ำนั่นเอง
กล่าวกันว่าในปี พ.ศ. 2451 จัดเป็นยุคที่รุ่งเรืองทางด้านการศึกษามากที่สุด (ที่เกี่ยวกับการศึกษาและตำราภาษารามัญ) ของวัดแค เพราะเป็นปีที่ได้พิมพ์ตำราภาษารามัญไว้มากที่สุดเท่าที่ค้นพบ และยังเป็นศูนย์รวมเหล่านักปราชญ์แห่งภาษารามัญไว้มากมายในยุคนั้น ซึ่งต่อมาทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรม (นักธรรมชั้นตรี โท เอก) เป็นแห่งแรกของเมืองพระประแดง โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2477
ภายในวัดยังมีอาคารเสนาสนะเก่าแก่ให้เราได้เห็นอยู่ จากข้อมูลบอกว่าอุโบสถหลังเดิมเป็นไม้มุงด้วยหลังคาสังกะสี ปัจจุบันแม้จะเป็นหลังใหม่แต่ก็เริ่มมีสภาพทรุดโทรมแล้ว ด้านหน้าอุโบสถ วิหาร มีเจดีย์ทรงมอญและเสาหงส์ ธงตะขาบเอกลักษณ์ที่แสดงให้เห็นความเป็นวัดมอญ ที่วัดแคนี้จะจัดพิธีสวดบูชาพระราหูเป็นประจำทุกค่ำวันพุธ ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงและประชาชนทั่วไปเป็นอันมาก
วัดแคเป็นวัดประจำหมู่บ้านของชุมชนมอญหลากหลายบ้าน ทั้งบ้านอะม่าง บ้านตา บ้านเว่หราว บ้านดัง และบ้านฮะกาม ชาวไทยเชื้อสายมอญตามบ้านต่างๆ เหล่านี้ยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น เช่น ในวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ยังมีการมาทำบุญตักบาตรน้ำผึ้งที่วัดให้เห็นกันอยู่ โดยชาวมอญเชื่อว่าเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์มาก เนื่องจากในสมัยพุทธกาลพระสงฆ์จะใช้น้ำผึ้งเป็นส่วนหนึ่งในการปรุงยารักษาโรค

วัดจวน : สร้างโดยพระยาดำรงราชพลขันธ์
อดีตเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์(คนที่สอง)

เครื่องกำลังร้อนไปต่อกันเลยกับอีกหนึ่งวัดไม่ไกลกันมากนักเพราะยังคงตั้งอยู่ในตำบลตลาด แต่อยู่ที่บ้านสะพานช้าง ถนนทรงเมือง เราจะพบกับวัดเล็กๆ แต่ชื่อฟังดูยิ่งใหญ่น่าเกรงขาม นั่นคือวัดจวนดำรงค์ราชพลขันธ์ เรียกเป็นภาษามอญว่า เพี่ยอะม้อย วัดนี้สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2430 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) เจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์คนที่ 2 ได้อุทิศถวายจวนและดำเนินการสร้างเป็นวัดขึ้น วัดจึงมีนามตามราชทินนามของท่าน ส่วนชาวบ้านเรียกสั้นๆ ว่า วัดจวน วัดนี้ตระกูลคชเสนีให้การทำนุบำรุงมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน
วัดจวนเป็นวัดประจำหมู่บ้านของมอญบ้านจ่างบีและบ้านโกงกาง วันที่เราไป พบอุโบสถค่อนข้างทรุดโทรมมาก ซึ่งทางวัดกำลังทำการบูรณะใหม่ จึงขอฝากบอกบุญมายังผู้อ่านด้วยนะคะ ใกล้ๆ กับอุโบสถมีมณฑปประดิษฐานรูปหล่อหลวงปู่สุดใจอดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 2 พระสายวิปัสสนากัมมัฎฐานและเรืองอาคมที่ชาวบ้านเคารพศรัทธา

นอกจากเอกลักษณ์ต่างๆ ที่สื่อให้เห็นถึงความเป็นวัดมอญ ไม่ว่าจะเป็นเสาหงส์ธงตะขาบที่ตั้งอยู่หน้าวัด เสาหงส์อนุสรณ์ตระกูลคชเสนี ศาลาอเนกประสงค์ และหอระฆังที่มีคันทวยรูปหงส์แล้ว ฝั่งตรงข้ามด้านหน้าวัดยังมีอุทยานมัจฉาที่มีเหล่าปลาสวายเบียดเสียดแย่งชิงขนมปังที่นักท่องเที่ยวหรือคนใจบุญในชุมชนแวะเวียนกันมาทำบุญที่ร้านค้าวัดอีกด้วย ณ จุดนี้ถ้าไม่นับรวมฝูงนกพิราบที่มารวมตัวแย่งชิงอาหารกันแล้ว ก็นับเป็นอีกหนึ่งมุมที่มีบรรยากาศน่ารื่นรมย์ไม่น้อยเลยทีเดียว

วัดกลาง : ชาวมอญนิยมเรียกว่า“วัดแพ่ฮะเริ่น”
ชมปฏิมากรรมร่วมสมัย..ไทย-มอญ

ดูจากพื้นที่หน้ากระดาษที่เหลืออยู่ คงไปต่อกันได้อีกหนึ่งวัด เป็นวัดที่เราสะดุดตากับประตูทางเข้าที่มีลวดลายเป็นรูปหงส์สวยงาม วัดนี้มีเนื้อที่กว้างขวางพอสมควร ตั้งอยู่บนถนนนครเขื่อนขันธ์ ตำบลบางพึ่ง มีชื่อว่าวัดกลาง เป็นวัดที่มีประวัติเก่าแก่มายาวนานเช่นกัน สร้างราว พ.ศ. 2378 โดยชาวมอญหมู่บ้านฮะเริ่นร่วมกับชาวบ้านตา บ้านตันเจิน และได้รับพระราชทานนามว่า วัดเกริง ซึ่งแปลว่า "วัดคลอง" ส่วนชาวมอญเรียกวัดกลางว่า แพ่ฮะเริ่น
วัดกลางเป็นวัดประจำหมู่บ้านของมอญบ้านฮะโต่นเจิ่นย์ และบ้านฮะเริ่น สังเกตจากรูปแบบทางศิลปกรรมภายในวัด ถือเป็นวัดที่แสดงออกถึงการอยู่ร่วมกันของชาวไทยและมอญได้เป็นอย่างดี อาทิ เจดีย์ของวัดมีรูปแบบระหว่างเจดีย์ทรงมอญกับเจดีย์ทรงไทยย่อมุมไม้สิบสอง ที่อุโบสถมีประติมากรรมรูปหงส์ประดับปลายรวงผึ้ง ซุ้มประตูทางเข้าวัดมีทั้งภาษาไทยและมอญ
จากประวัติที่เล่ามาทุกวัดที่เรามาเที่ยวชมในวันนี้ เป็นวัดที่มีชาวมอญเป็นผู้สร้าง ชาวมอญสร้างวัดประจำชุมชนขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของสมาชิกในชุมชน วัดหลายแห่งเป็นที่รวมองค์ความรู้ทั้งทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า รวมถึงสะท้อนความเชื่อประเพณี พิธีกรรม วิถีชีวิตของชาวมอญ วัดจึงนับเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่อัตลักษณ์ชุมชนมอญให้อนุชนรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจ และได้เรียนรู้ สืบทอดต่อไป

รายละเอียดฟรีแลนซ์

utaiwan
ประสบการณ์ทำงานด้านกองบรรณาธิการวารสาร และพ็อกเก็ตบุ๊ก
0.0
มี 10 ผลงาน
จ้างงานสำเร็จ 0 ครั้ง
ได้รับรีวิว 0 ครั้ง
ดูโปรไฟล์

หากคุณสนใจจ้างงานแบบนี้

คุยกับฟรีแลนซ์
กำลังเชื่อมต่อ