ปลุกแนวคิด..ดึงเป็ดปากน้ำกลับบ้าน อนุรักษ์สายพันธุ์พื้นเมือง..เพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร

รายละเอียดงาน

คนปากน้ำ..รู้จักเป็ดปากน้ำไหม?..คำถามแรกที่เกิดขึ้นในใจ หลังเริ่มต้นสนทนากับนายสาโรจน์ กล่ำดิษฐ์ สารวัตรกำนัน ตำบลบ้านคลองสวน อำเภอพระสมุทรเจดีย์ เพราะได้ยินว่าเป็ดพันธุ์นี้หายไปจากจังหวัดสมุทรปราการร่วม 40 ปีแล้ว ทั้งๆ ที่จุดเริ่มต้นพบว่าเลี้ยงกันอยู่ที่ท้ายบ้าน จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีชาวจีนอพยพนำเป็ดมาด้วย และผสมพันธุ์กับเป็ดไทยจนสายพันธุ์นิ่ง แล้วก็ตั้งชื่อตามถิ่นที่อยู่ว่า “เป็ดปากน้ำ”
นายสาโรจน์เล่าว่า ในสมัยก่อนชาวบ้านเลี้ยงกันเป็นฝูงใหญ่ พอจะจำความได้ว่าสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ยังมีเลี้ยงเป็ดพันธุ์นี้อยู่ แต่พอโตมาก็ค่อยๆ เลือนหายกันไปตามสภาพสังคม จนมาเมื่อปี 2560 ทางปศุสัตว์จังหวัดสมุทรปราการได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมและอนุรักษ์สายพันธุ์เป็ดปากน้ำขึ้น มีการสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยง เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพ และอนุรักษ์สายพันธุ์เป็ดด้วย
สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากนายภานุวัฒน์ อนันตรักษ์ เจ้าพนักงานสัตวบาลปฏิบัติงาน สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสมุทรปราการ ที่ว่าทางปศุสัตว์จังหวัดได้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมสัตว์พื้นเมืองแท้ โดยไม่ผสมข้ามกับพันธุ์ต่างประเทศหรือพันธุ์อื่นๆ ซึ่งเป็ดปากน้ำเป็นเป็ดพื้นเมืองที่ทำการพัฒนาต่อเนื่องมา กว่า 30 ปี เลี้ยงง่าย ต้านทานโรค แข็งแรง เป็นเป็ดไข่ที่สามารถไข่ได้ 1-2 ปี และปีแรกจะไข่ได้มากที่สุด แต่ก็จะมีข้อด้อยคือเป็ดจะไม่ยอมฟักไข่เอง จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ค่อยๆ เลือนหายไป
ทางกรมปศุสัตว์ได้ทำการเพาะเลี้ยงเป็ดพันธุ์ปากน้ำนี้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์ปีก อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นศูนย์เพาะสัตว์ปีกทุกชนิดของกรมปศุสัตว์ และได้นำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาแจกจ่ายให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จึงขอให้มั่นใจได้ว่าปัจจุบันมีการเลี้ยงเป็ดสายพันธุ์ปากน้ำแท้ๆ ในจังหวัดสมุทรปราการอย่างแน่นอน
นายสาโรจน์เล่าต่อว่า ตนเองก็เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ แม้ที่บ้านจะเลี้ยงได้ค่อนข้างประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังมีปัญหาที่ทำให้เกษตรกรรายอื่นๆ ไปต่อกับอาชีพนี้ค่อนข้างลำบาก ทั้งๆ ที่ทางปศุสัตว์จังหวัดก็ได้สนับสนุนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และอุปกรณ์ต่างๆ อย่างครบถ้วนมาจนเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว
“ผมมีความหวังมาก ตอนที่มีโอกาสร่วมต้อนรับท่านนายก อบจ. เมื่อวันที่ท่านมาศึกษาดูงาน พร้อมแสดงแนวคิดว่าอยากจะรื้อฟื้นและส่งเสริมการเลี้ยงเป็ดปากน้ำขึ้นมาอีกครั้ง เพราะต้องการจะอนุรักษ์สัตว์พื้นเมืองของสมุทรปราการให้คงอยู่คู่กับจังหวัดตลอดไป” นายสาโรจน์กล่าวด้วยน้ำเสียงเจือความดีใจอย่างที่สุด
ตามที่เล่ามาตอนต้น เกษตรกรในโครงการยังไม่สามารถเลี้ยงเป็ดปากน้ำให้เป็นอาชีพที่เข้มแข็งได้ เพราะยังขาดการเรียนรู้ในหลายด้าน บวกกับจำนวนเกษตรกรที่ได้เข้าร่วมโครงการก็นับว่ายังน้อยมาก และที่สำคัญการหาอาหารเสริมเพื่อให้เป็ดมีสุขภาพที่ดียิ่งลำบาก เพราะทั้งจังหวัดไม่มีแหล่งขายอาหารเป็ดเลย เนื่องจากในจังหวัดยังมีเกษตรกรเลี้ยงเป็ดจำนวนไม่มากนัก
หากนายก อบจ. มีความต้องการสนับสนุนและอนุรักษ์เป็ดพันธุ์พื้นเมืองนี้ให้คงอยู่คู่กับเกษตรกรปากน้ำต่อไป การมีศูนย์เรียนรู้ที่จะให้เกษตรกรเข้าไปศึกษาดูงาน และเป็นแหล่งเพาะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ให้กับเกษตรกร ก็เป็นสิ่งที่จะสานฝันให้กับคนเลี้ยงเป็ดที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ในการสร้างชื่อเป็ดปากน้ำ ให้คนปากน้ำได้รู้จักขึ้นมาอีกครั้ง..สารวัตรกำนันสาโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

รายละเอียดฟรีแลนซ์

utaiwan
ประสบการณ์ทำงานด้านกองบรรณาธิการวารสาร และพ็อกเก็ตบุ๊ก
0.0
มี 10 ผลงาน
จ้างงานสำเร็จ 0 ครั้ง
ได้รับรีวิว 0 ครั้ง
ดูโปรไฟล์

หากคุณสนใจจ้างงานแบบนี้

คุยกับฟรีแลนซ์
กำลังเชื่อมต่อ